โรงพยาบาลราชบุรีเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งหนึ่งในสองแห่งของเขต 4 ตั้งอยู่เลขที่ 85 ถนนสมบูรณ์กุล อำเภอเมืองราชบุรี ปัจจุบันมีขนาด 855 เตียง (ไม่รวม ICU) แต่เดิมเทศบาลเมืองราชบุรีเป็นผู้ริเริ่มสร้างขึ้นได้กระทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2484 สร้างเสร็จและเปิดบริการแก่ประชาชนใน วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ประกอบด้วย ตึกอำนวยการ เรือนรับผู้ป่วย 25 เตียง บ้านพักแพทย์และโรงครัวอย่างละ 1 หลัง มีแพทย์ 1 ท่าน พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นอีก 7 ท่านทำงานประจำ นายแพทย์ทนง วิริยะชาติ เป็นผู้อำนวยการท่านแรกและดำรงตำแหน่งอยู่นาน 5 ปี
นายแพทย์คง สุวรรณรัตน์
ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ท่านได้สร้างชื่อเสียงแก่โรงพยาบาลราชบุรีเป็นอันมากตลอดช่วงเวลาที่ท่านประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลนี้เป็นเวลานานถึง 5 ปี ได้ทำการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นจนสามารถรับผู้ป่วยได้ 50 เตียง ประชาชนมีความนิยมในบริการการแพทย์แผนปัจจุบันยิ่งขึ้น
นายแพทย์ประพฤติ ธีระคุปต์
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2494 จนถึง 1 มกราคม พ.ศ.2495 ในช่วงนี้โรงพยาบาลราชบุรีได้ถูกโอนสังกัดจากเทศบาลเมืองราชบุรีไปขึ้นกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์สมนึก วิทิศวรการ
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอยู่เป็นเวลานาน 16 ปี จนถึงแก่กรรมในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2511 ในช่วงเวลาดังกล่าวโรงพยาบาลราชบุรีมีการแบ่งแผนกตามสาขาวิชาหลัก มีการพัฒนาคุณภาพการบริการ ได้รับความนิยมเชื่อถือจากผู้มารับบริการมากยิ่งขึ้น และได้รับความสนับสนุนจากราชการและประชาชนในการก่อสร้างหอผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนมีจำนวนเตียงถึง 183 เตียง
นายแพทย์ธนา เอียการนา
ได้มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511ได้ก่อสร้างอาคารผู้ป่วย อาคารผ่าตัดขนาด 3 ห้อง และอาคารอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากจนสามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 260 เตียง ก่อนที่จะย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครราชสีมาในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516
นายแพทย์ปราเมศ ชัยจินดา
ได้มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2516 มีการขยายจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นถึง 365 เตียง มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการยิ่งขึ้นจนเป็นที่นิยมของประชาชนในจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง มีการพัฒนาทางวิชาการ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นจนได้รับการกำหนดให้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ในช่วงปี พ.ศ.2518 ถึง พ.ศ.2520 ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารอำนวยการ อาคารผู้ป่วย “เจ้าฟ้ามหาจักรี” หอผู้ป่วยฉุกเฉิน นายแพทย์ปราเมศ ชัยจินดา ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอยู่จนย้ายไปรับตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2522
นายแพทย์เดชา กิจประยูร
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ในช่วงเวลา 7 ปี มีการจัดหาและการพัฒนาบุคลากรประเภทและระดับต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาคุณภาพการบริการเฉพาะสาขายิ่งขึ้น ปรับปรุงทางวิชาการมีการรับแพทย์ฝึกหัด เป็นสถาบันสมทบฝึกนักศึกษาและแพทย์ประจำบ้านหลายสาขา สถานที่ของโรงพยาบาลได้รับการปรับปรุงและทำนุบำรุงให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม นายแพทย์เดชา กิจประยูร ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529
นายแพทย์ไสว ลิมปิษเฐียร
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 มีการพัฒนาคุณภาพการบริการ และพัฒนาทางวิชาการโดยลำดับ จนกระทั่ง 30 กันยายน พ.ศ. 2531
นายแพทย์มงคล จิตวัฒนากร
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2531 จนกระทั่ง 30 กันยายน พ.ศ. 2546 ได้พัฒนางานทุกด้านของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง คือ โรงพยาบาลได้รับการรับรองคุณภาพระบบ ISO 9002 :2001 และได้รับการประกาศเกียรติคุณหลายสาขา เช่น งานบริการผู้ป่วยนอก และโภชนาการ
นายแพทย์เผด็จ บรรจงจิตร
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 จนกระทั่ง 31 ธันวาคม 2547
นายแพทย์ธงชัย ตรีวิบูลย์วณิชย์
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 5 มกราคม พ.ศ. 2548 จนกระทั่ง 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ได้ส่งเสริมสนับสนุนจนโรงพยาบาลผ่านการรับรองคุณภาพ HA ในปี พ.ศ. 2549
นายแพทย์ธนินทร์ พันธุเตชะ
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 จนกระทั่ง 1 กันยายน พ.ศ. 2552
นายแพทย์จินดา แอกทอง
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 30 กันยายน 2552 จนกระทั่ง 3 มีนาคม 2553
นายแพทย์สมชาย เทพเจริญนิรันดร์
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 10 มีนาคม 2553 จนกระทั่ง 27 ตุลาคม 2557
นายแพทย์ทรงพล ชวาลตันพิพัทธิ์
ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเมื่อ 7 ตุลาคม 2557 จนกระทั่ง 30 กันยายน 2561
ปัจจุบันโรงพยาบาลราชบุรี ภายใต้การอำนวยการโดย นายแพทย์พิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ได้รับการพัฒนาในทุกด้านกล่าวคือ
การบริหาร : มีการมอบหมายและกระจายหน้าที่ให้ฝ่ายและกลุ่มงานต่าง ๆ รับผิดชอบยิ่งขึ้น การกำหนดนโยบาย งานและกิจกรรมเป็นไปอย่างมีระบบ
การบริการ : กลุ่มงานเทคนิคบริการต่าง ๆ สามารถครอบคลุมภารกิจในการให้บริการขั้นสูงประเภทโรงพยาบาลศูนย์ได้ดียิ่งขึ้น เปิดให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง มีแพทย์ เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล
งานวิชาการ : มีการประชุมวิชาการของฝ่ายและกลุ่มงานต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาอื่น ๆ ทางการแพทย์และสาธารณสุข